ใครเลี้ยงปลาสวยงาม แล้วคงรู้จักไรทะเล หรือ อาร์ทีเมีย
เนื่องจากเป็นอาหารสดที่หาซื้อได้ง่าย เก็บรักษาง่ายไม่กลายเป็นแมลงอย่างอาหารสดบางชนิด (ลูกน้ำ หนอนแดง) นิยมใช้กันทั่วไปทั้งในการเลี้ยงปลาน้ำจืด ปลาทะเล และอื่นๆ
อาร์ทีเมีย (Artemia) เป็นสิ่งมีชีวิตที่เป็นญาติห่างๆ กับกุ้ง หรือปู (Crustacean) ลำตัวมีการแบ่งข้อปล้องและมีเกราะ มีขนาดตัวเต็มวัย 7 – 15 มิลลิเมตร ลำตัวมีสีแดงสด และจะแดงขึ้นตามระดับความเค็มของน้ำที่ใช้เลี้ยง มี 3 สายพันธุ์คือ Artemia tunisiana ,A. franciscana และ A. salina ซึ่งสายพันธุ์ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกก็คือสายพันธุ์ A. salina ตัวผู้จะมีก้ามขนาดใหญ่ใช้หนีบเกาะตัวเมียขณะผสมพันธุ์ ส่วนตัวเมียนั้นจะเห็นรังไข่อย่างชัดเจนที่บริเวณส่วนท้ายของร่างกาย
ร่างกายของอาร์ทีเมียแม้จะมีเปลือกห่อหุ้มไว้แต่ก็นุ่ม และบางมาก เพราะไม่มีการสะสมแคลเซียมในเปลือกมากเท่าครัสตาเชียนชนิดอื่นๆ ถิ่นที่อยู่อาศัยในธรรมชาติ (habitat) จึงต้องอยู่ในที่ๆ ไม่มีศัตรูมาก นั่นคือแหล่งน้ำเค็มจัด ความเค็มอยู่ระหว่าง 190 – 225 ppt สูงกว่าความเค็มของน้ำทะเลปกติถึง 6 – 7 เท่าตัว ฉะนั้นสัตว์น้ำอื่นๆ ที่ปรับตัวอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ผิดวิสัยเช่นนี้จะมีน้อยมากๆ(Extreme environment) แหล่งใหญ่ที่สามารถพบ และมีการจับอาร์ทีเมียจากธรรมชาติมากที่สุดในโลกอยู่ที่ Great salt lake ทางตอนเหนือของรัฐ Utah จนถึงทางตะวันออกของรัฐ Oregon ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่แห่งนี้เป็นแหล่งที่ผลิตไข่อาร์ทีเมียแห้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีคุณภาพดีที่สุดอีกด้วย นอกจากนี้ในประเทศอื่นก็มีบ้างแต่คุณภาพไม่ดีเท่า เช่น ในประเทศจีน เป็นเหตุให้ไข่อาร์ทีเมียแห้งนี้มีราคาแพง และผันผวนง่าย เพราะผลผลิตที่ได้ไม่คงที่ในแต่ละปี
อาร์ทีเมียสามารถสืบพันธุ์ได้ทั้งแบบอาศัยเพศ และไม่อาศัยเพศ (bisexaul) การออกลูกก็ยังสามารถออกลูกได้ 2 แบบอีก คือ แบบออกลูกเป็นไข่ เมื่อสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม และแบบออกลูกเป็นตัว เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสม ในระบบการเลี้ยง จะออกลูกเป็นตัวเสียส่วนใหญ่ ให้ไข่ได้ไม่มากเพียงพอเท่าการเก็บจากธรรมชาติ จึงยังไม่มีไข่อาร์ทีเมียแห้งอัดกระป๋องที่ได้มาจากการเพาะเลี้ยง เพราะไม่คุ้มทุน ตัวอ่อนอาร์ทีเมียที่พึ่งฟักใหม่ๆ จะมีขนาด 0.4 – 0.5 มิลลิเมตร ขนาดเล็กมากจนสัตว์น้ำแทบทุกชนิดที่มีปากเล็ก หรือกรองกินสามารถกินได้ เช่น ปะการัง ,ดอกไม้ทะเล หรือลูกสัตว์น้ำอื่นๆ ฯลฯ อาร์ทีเมียจะว่ายน้ำตีลังกาตลอดชีวิต และกินอาหารแบบกรองกิน (filter feeding)